ทักทายกันก่อนเบื้องต้นครับ

วัตถุประสงค์หลักของการจัดทำเวบนี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ทางกฎหมายที่รวบรวมมาจากการสอนพิเศษ การค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ผู้อ่าน นำไปใช้ในการเตรียมสอบเนติฯ ภาค 2

ข้อมูลที่นำมาลงจะลำดับขั้นตอนทางความคิด เพื่อความเข้าใจที่เป็นระบบความคิดของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ผู้เตรียมตัวสอบสามารถเข้ามาอ่านทบทวน และมีฐานความรู้เพียงพอที่จะนำไปสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตไทยได้

หวังว่าการ Pay it Forward นี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ และหากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายและเกิดการพัฒนาต่อไป

ขอบคุณครับ
ชวลิต กุลจงกล
เนติบัณฑิตไทย สมัย 59
tutorlawgroup fanpage




วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กฎหมายล้มละลาย ตอนที่ 3: เงื่อนไขในส่วนลูกหนี้



เงื่อนไขในส่วนลูกหนี้

          มาตรา 7 ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น[1]

          ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หมายความว่า ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ มีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

บทสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

          อย่างไรก็ตาม มาตรา 8[2] บัญญัติต่อไปว่า ถ้ามี เหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้[3] เกิดขึ้น            ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว[4]

          (1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

          (2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

          (3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร

          (4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
                   ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4010/2536 การที่จำเลยที่ 5 ออกไปอยู่นอกราชอาณาจักรจนบัดนี้ยังไม่กลับมาจึงเข้าข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 8(4) ก. ว่าจำเลยที่ 5 เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว

                   ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไปโดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ[5]

                   ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล

                   ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ

          (5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้[6]
                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2537 พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(5) ได้แบ่งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็น 2 กรณีคือ ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งก็เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว การที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบว่าจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินดังกล่าวเพียงพอแก่การชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

          (6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้

          (7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้[7]

          (8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป[8]

          (9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้[9]

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2553 ก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2548 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 5/619 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แต่ไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงมีหนังสือให้จำเลยไปรับหนังสือดังกล่าว แต่จำเลยไม่ไปรับหนังสือภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงส่งหนังสือคืนแก่โจทก์ หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งโดยส่งให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาดังกล่าว ปรากฏว่ามี อ. ซึ่งระบุว่าเป็นย่าของจำเลยเป็นผู้รับไว้แทน ดังนั้นจากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วยแล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 มีผู้รับไว้แทน จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2544 ในการฟ้องคดีล้มละลายนั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยในการสืบของโจทก์นั้น โจทก์อาจจะสืบข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8 หรือนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 9(1) คดีนี้โจทก์อ้างว่าได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยไม่ชำระหนี้ อันเป็นการกล่าวอ้างว่ามีข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8(9) ทั้งนี้ โจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้โดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ แต่ในทางนำสืบนั้นโจทก์มิได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่ามีเหตุขัดข้องอย่างไรจึงไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามโดยวิธีธรรมดาได้ ทั้งที่ปรากฏในชั้นฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่ง กรณีจึงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วตามมาตรา 8(9)

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4286/2543 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ถ้าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รวมสามครั้ง แต่ในการทวงถามสองครั้งแรก ยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น จำเลยชอบที่จะ ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามหนังสือทวงถามทั้งสองครั้งได้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียวยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(9)

                                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2535 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หาใช่บทบังคับให้โจทก์ต้องบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้องไม่เมื่อโจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง แม้การทวงถามจะไม่ชอบด้วยมาตรา 8(9) โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีล้มละลาย ข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 849/2534 หนังสือทวงถามของโจทก์ 2 ฉบับได้ถูกส่งไปยังจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยจ่าหน้าซองตรงกับภูมิลำเนาของจำเลยเกือบทั้งหมด ยกเว้นชื่อ เขตที่ผิดจากเขตดุสิตเป็นเขตพญาไท และมีคนในบ้านเลขที่ดังกล่าวลงชื่อรับไว้แทนจำเลยทั้งสองครั้ง จึงเชื่อ ว่าหนังสือทวงถามของโจทก์ทั้งสองฉบับได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว

                                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2527 การทวงถามหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 8(9) เป็นการทวงถามหนี้สินตามปกติประการหนึ่ง แต่กรณีที่เจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย การทวงถามจะต้องทำเป็นหนังสือ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนังสือของเจ้าหนี้โดยตรง อาจเป็นหนังสือของตัวแทนเจ้าหนี้ก็ได้ และการที่เจ้าหนี้มอบหมายให้ตัวแทนทวงถามลูกหนี้ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือ

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2526 เมื่อผู้จัดการบริษัทจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ทั้งสองฉบับจากโจทก์แล้ว แม้หนังสือนั้นได้ส่งไปยังที่อยู่ของผู้จัดการบริษัทจำเลยซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาอันเป็นที่ตั้งของบริษัทจำเลย ก็ตาม ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวโดยชอบแล้ว และหนังสือทั้งสองฉบับนี้ได้ส่งในระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว


[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2544 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดียถือได้ว่าบริษัทจำเลยมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่คำว่า "สถานประกอบการถาวร"ตามอนุสัญญาดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น เมื่อใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยของจำเลยสิ้นอายุไปแล้ว ไม่มีการประกอบธุรกิจ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย การที่ใบอนุญาตดังกล่าวสิ้นอายุไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2533 และกรมสรรพากรโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ก็มิใช่กรณีที่จำเลยประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรในขณะที่มีการขอให้ล้มละลายหรือภายในหนึ่งปีก่อนนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 7
[2] ทั้งนี้ ในการพิสูจน์ว่าลูกหนี้นั้นมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินนั้นเป็นการทำได้ยากที่จะหาพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลให้เห็นว่าลูกหนี้นั้นหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้แสดงพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 8 ย่อมทำให้ศาลเห็นว่าลูกหนี้นั้นมีพฤติการณ์ที่หนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว
[3] โยงเรื่องฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553 คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายอ้างเหตุจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง มีราคามากกว่าหนี้ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์นำหนี้เดียวกันมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างเหตุจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และที่ดินในคดีก่อนจำเลยได้โอนขายไปแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แม้มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะเป็นหนี้เดียวกันและคดีมีประเด็นเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
[4] หากจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว (อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2552) อย่างไรก็ตาม การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ซึ่งพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯมาตรา 8ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นเป็นเพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้นส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องนั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงดังที่บัญญัติในมาตรา9หรือมาตรา10และมาตรา14โดยต้องคำนึงถึงเหตุผลประกอบให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงลำพังแต่คำเบิกความของโจทก์เพียงปากเดียวกล่าวอ้างลอยๆว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้โดยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้แน่ชัดว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามฟ้อง (อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4233/2539)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2552 การนำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น โจทก์อาจจะนำสืบถึงทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรืออาจจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 อันเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้การพิจารณาถึงฐานะหรือข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย คดีนี้โจทก์นำสืบถึงมูลหนี้ของโจทก์และการดำเนินการของโจทก์เท่านั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 2 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว
[5] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7454/2548 การที่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ถึง 2 ครั้ง โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ครั้งแรกได้รับแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ย้ายที่อยู่ไม่ทราบที่อยู่ใหม่ และครั้งหลังมีการระบุเหตุขัดข้องว่าไม่มีเลขที่บ้านตามจ่าหน้า ทั้งในชั้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวปรากฏในรายงานของพนักงานเดินหมายว่ามีลักษณะเป็นบ้านร้าง ไม่มีผู้อยู่อาศัยเป็นเวลานานแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปิดสถานประกอบธุรกิจเพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 8 (4) (ข) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2540 ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 8 (5) ที่ว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้เป็นแต่เพียงเหตุที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายมาตรา 14 ในศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง จึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควรจริงไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 74,826.66 บาทซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักลำพัง แต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความว่าได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ปรากฎว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อันเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นมาสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่าตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2544 โจทก์ได้ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าวซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาแล้วไม่พบชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินถือได้ว่าโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(5)
[7] เช่น เจ้าหนี้ทวงถามแล้ว ลูกหนี้อ้างว่าไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้
[8] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2553 โจทก์ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด และจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อีก 3 คดี กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) (8) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
[9] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1715/2538 โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายเนื่องจากเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์ในฐานะผู้ส่งออกเพื่อจัดซื้อและเตรียมส่งสินค้าออกไปต่างประเทศโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วยมิใช่ฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยตรงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความโดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แม้ไม่มีผู้รับหนังสือก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 หลบเลี่ยงไม่ยอมรับ ถือว่าเป็นการส่งโดยชอบแล้วพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 8 (4) (9)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น