ทักทายกันก่อนเบื้องต้นครับ

วัตถุประสงค์หลักของการจัดทำเวบนี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ทางกฎหมายที่รวบรวมมาจากการสอนพิเศษ การค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ผู้อ่าน นำไปใช้ในการเตรียมสอบเนติฯ ภาค 2

ข้อมูลที่นำมาลงจะลำดับขั้นตอนทางความคิด เพื่อความเข้าใจที่เป็นระบบความคิดของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ผู้เตรียมตัวสอบสามารถเข้ามาอ่านทบทวน และมีฐานความรู้เพียงพอที่จะนำไปสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตไทยได้

หวังว่าการ Pay it Forward นี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ และหากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายและเกิดการพัฒนาต่อไป

ขอบคุณครับ
ชวลิต กุลจงกล
เนติบัณฑิตไทย สมัย 59
tutorlawgroup fanpage




วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิ อาญา ภาค 1 ตอนที่ 2: ความสำคัญของการเป็น “ผู้เสียหาย”

ความสำคัญของการเป็น “ผู้เสียหาย”

ผู้เสียหาย คือ บุคคลที่กฎหมายให้สิทธิหรืออำนาจในการดำเนินคดี

- การร้องทุกข์ มาตรา ๒ (๗) และ การถอนคำร้องทุกข์ มาตรา ๑๒๖

ข้อสังเกต

- การเป็นโจทก์ฟ้องคดี มาตรา ๒๘ (๒) และการถอนฟ้อง มาตรา ๓๕  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604 - 1605/2512 โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดรวม 4 กระทงคือความผิดต่อร่างกายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และความผิดต่อเสรีภาพ

โดยเฉพาะข้อหาว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดต่อร่างกายนั้นปรากฏว่าเป็นข้อหาเดียวกับที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้หาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ไว้ในสำนวนคดีอื่นซึ่งโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คดีนั้นถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ในคดีนี้มิใช่ผู้เสียหายเพราะเป็นกรณีต่างวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ก็ย่อมได้รับผลนี้ด้วย ฉะนั้น

โจทก์จะมาฟ้องหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ในมูลคดีเดียวกับคดีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 แล้วหาได้ไม่ ส่วนความผิดข้ออื่นๆ โจทก์ยังเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องในความผิดนั้นๆ ได้

- การเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ มาตรา ๓๐

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2512 จำเลยยืมเงินโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมเอาเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการให้จำเลยยืม จำเลยจึงออกเช็คให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไว้เพื่อชำระหนี้ โจทก์ร่วมได้นำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินแต่นำเช็คเข้าบัญชีไม่ได้ ดังนี้ ถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่ได้สลักหลังเช็คให้โจทก์ร่วมและยังเป็นผู้ทรงเช็คอยู่ ไม่ใช่โจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงห้างหุ้นส่วนจำกัด นั้นจึงเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลย และเมื่อโจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิจะเข้าเป็นโจทก์ร่วม

- การเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มาตรา ๔๐

- การอุทธรณ์ ฎีกา มาตรา ๑๙๓ และ ๒๑๖ และการถอนอุทธรณ์ ฎีกา มาตรา ๒๐๒ และ ๒๐๒ ประกอบ ๒๑๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821 - 1822/2514 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายซึ่งศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทุกคนสมัครใจวิวาททำร้ายซึ่งกันและกันนั้น แม้จำเลยเพียงบางคนเท่านั้นอุทธรณ์ แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่มิได้อุทธรณ์กระทำโดยป้องกันอันเป็นเหตุยกเว้นความผิด ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์นั้น แล้วยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัว จำเลยที่มิได้อุทธรณ์นั้นได้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ไม่ใช่เหตุลักษณะคดีตามมาตรา 213 จำเลยผู้ร่วมกระทำผิดย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น