ทักทายกันก่อนเบื้องต้นครับ

วัตถุประสงค์หลักของการจัดทำเวบนี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ทางกฎหมายที่รวบรวมมาจากการสอนพิเศษ การค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ผู้อ่าน นำไปใช้ในการเตรียมสอบเนติฯ ภาค 2

ข้อมูลที่นำมาลงจะลำดับขั้นตอนทางความคิด เพื่อความเข้าใจที่เป็นระบบความคิดของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ผู้เตรียมตัวสอบสามารถเข้ามาอ่านทบทวน และมีฐานความรู้เพียงพอที่จะนำไปสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตไทยได้

หวังว่าการ Pay it Forward นี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ และหากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายและเกิดการพัฒนาต่อไป

ขอบคุณครับ
ชวลิต กุลจงกล
เนติบัณฑิตไทย สมัย 59
tutorlawgroup fanpage




วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิ อาญา ภาค 1 ตอนที่ 1: การเป็นผู้เสียหาย การร้องทุกข์ การสอบสวน และ การฟ้องคดีของพนักงานอัยการ นั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างไร



การเป็นผู้เสียหาย การร้องทุกข์ การสอบสวน และ การฟ้องคดีของพนักงานอัยการ นั้น
มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

๑. การฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
มาตรา ๑๒๐ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

๒. การสอบสวน
มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง บัญญัติว่า “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ”

๓. ผู้เสียหาย และ การร้องทุกข์
มาตรา ๒ (๔) ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖
มาตรา ๒ (๗) คำร้องทุกข์หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ




ดังนั้น ในคดีความผิดต่อส่วนตัว หากการร้องทุกข์ไม่ได้กระทำลงโดยผู้เสียหายย่อมมีผลทำให้การร้องทุกข์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่าไม่มีคำร้องทุกข์ และย่อมส่งผลทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน ตามมาตรา ๑๒๑ วรรคสอง การสอบสวนที่กระทำลงย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และย่อมส่งผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องมาตรา ๑๒๐ ไปด้วย  


ในทางกลับกัน หากเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน คำร้องทุกข์จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ดังนั้น คำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ส่งผลต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน และ อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ
                      

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2529 

อ. เป็นพนักงานของธนาคารทำหน้าที่แทนธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยไป เงินที่ อ. จ่ายไปเป็นเงินของธนาคารไม่ใช่เงินของ อ. แต่ธนาคารต่างหากที่เป็นผู้เสียหาย   

การที่ อ. ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องจ่ายเงินผิดพลาดไปและนำเงินส่วนตัวมาเข้าบัญชีที่จ่ายผิดไปเป็นความรับผิดชอบระหว่าง อ. กับธนาคาร หาทำให้ อ. เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์แก่เจ้าพนักงานไม่ 

การที่ อ. ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีฐานยักยอกแก่จำเลยจึงไม่เป็นการร้องทุกข์มอบคดีโดยผู้เสียหายตามระเบียบพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น