ทักทายกันก่อนเบื้องต้นครับ

วัตถุประสงค์หลักของการจัดทำเวบนี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ทางกฎหมายที่รวบรวมมาจากการสอนพิเศษ การค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ผู้อ่าน นำไปใช้ในการเตรียมสอบเนติฯ ภาค 2

ข้อมูลที่นำมาลงจะลำดับขั้นตอนทางความคิด เพื่อความเข้าใจที่เป็นระบบความคิดของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ผู้เตรียมตัวสอบสามารถเข้ามาอ่านทบทวน และมีฐานความรู้เพียงพอที่จะนำไปสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตไทยได้

หวังว่าการ Pay it Forward นี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ และหากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายและเกิดการพัฒนาต่อไป

ขอบคุณครับ
ชวลิต กุลจงกล
เนติบัณฑิตไทย สมัย 59
tutorlawgroup fanpage




วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิ อาญา ภาค 1 ตอนที่ 4: “ผู้เสียหายโดยตรง”



ผู้เสียหายโดยตรง

มาตรา ๒ (๔) ผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง

๑ ต้องมีการกระทำความผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่ง

๒ ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคล

 - กรมต่างๆ ในกระทรวงกลาโหมไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
 - สำนักสงฆ์ สนามม้า ศาลเจ้า หรือกองทุนหมู่บ้านไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสำนักสงฆ์ สนามม้า ศาลเจ้า หรือกองทุนหมู่บ้าน เป็นผู้เสียหาย
 - เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่วัดร้างอยู่ในความปกครองของกรมการศาสนา
- วัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกเป็นนิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236 - 2237/2550
ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก. บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้

๓ บุคคลนั้นต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานนั้น 

(๑) หากมีหลายฐานความผิดจะต้องแยกพิจารณาการเป็นผู้เสียหายแต่ละฐานความผิดไป โดยพิจารณาว่าแต่ละฐานความผิดนั้นมีคุณธรรมทางกฎหมายต้องการคุ้มครองใคร เช่นความผิดอาญาตาม พระราชบัญญัติ จราจรทางบกฯ มีคุณธรรมทางกฎหมายของฐานความผิดที่มุ่งคุ้มครองรัฐเท่านั้น ดังนั้นผู้เสียหายที่เป็นเอกชนไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้ แม้ว่าเอกชนจะได้รับความเสียหายก็ตาม


(๒)  สิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5934/2533 ตามมาตรา 36 หมายความว่า ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาล ย่อมตัดสิทธิผู้เสียหายคนนั้นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกเท่านั้น หาได้ตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกไม่ เพราะสิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน ทั้งมาตรานี้มิได้บัญญัติตัดสิทธิผู้เสียหายแต่ละคนในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่มิได้ถอนฟ้องจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตามมาตรา 28 ได้

(๓)ในส่วนนี้มีความสำคัญมากเพราะจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่ว่า “ผู้เสียหายจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการตามมาตรา ๓๐ ได้เฉพาะข้อหาที่เป็นผู้เสียหายเท่านั้น” 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6744/2544
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีได้ น่าจะหมายถึงการอนุญาตเฉพาะในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364,365 เท่านั้น ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายจึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยในข้อหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2545 แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยมิได้ระบุว่าให้เข้าร่วมในความผิดใดก็ต้องถือว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐานบุกรุกเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองข้อหา และโจทก์ (พนักงานอัยการ) มิได้อุทธรณ์ ข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ได้



๔ บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย



กรณีที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

(๑) บุคคลที่มีส่วนในการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็น ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือมีส่วนประมาทด้วยก็ตาม[1]

(๒) การล่อซื้อ (หากเป็นการชักจูงใจหรือก่อให้ฝ่ายจำเลยกระทำความผิด)[2]

(๓) กรณีสมัครใจทะเลาะวิวาท[3]

(๔) ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำผิด[4]        

(๕) ผู้ที่กระทำการโดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบฯ[5]


[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2501 บิดาไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้บุตรสาวของตนแท้งลูกถึงแก่ความตายด้วยความยินยอมของหญิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 เพราะหญิงมีส่วนร่วมในการกระทำผิดและมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2539 การที่ผู้ตายและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วและต่างขับรถเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่งฟังได้ว่าขับรถโดยประมาททั้งสองฝ่ายเมื่อผู้ตายมีส่วนกระทำผิดด้วยผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5 (2) ไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550 การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2547 แม้จำเลยจะขับรถจักรยานยนต์โดยประมาท ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายตกจากรถ ศีรษะฟาดพื้นและถึงแก่ความตาย แต่เหตุรถชนกันเกิดขึ้นก็เพราะผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาท ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นสามีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าว และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อนี้และพิพากษาจำคุกจำเลยมาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2545 เมื่อเกิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญา จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้นนอกจากโจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้อง ยังต้องได้ความว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้อีกด้วย

ดังนั้น หากไม่เป็นการชักจูงใจหรือก่อให้ฝ่ายจำเลยกระทำความผิด จำเลยมีเจตนากระทำการผิดอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6523/2545 บริษัทจำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และพร้อมที่จะคัดลอกหรือทำซ้ำติดตั้งลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์และส่งมอบให้ในวันที่ ฟ.ไปสุ่มซื้อได้ทันทีแม้การกระทำของฟ. จะเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่ก็ไม่เป็นการชักจูงใจหรือก่อให้ฝ่ายจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ขึ้นมา เพราะจำเลยมีเจตนากระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมาตรา 28(2)

[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2494 ผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันนั้น ทางนิตินัยไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษซึ่งกันและกันได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)

[4] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2525 กรณีเกี่ยวกับลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่ออนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยทำหนังสือถึงผู้จัดการสหกรณ์ แจ้งให้ทราบว่า ศ. น้องสาวโจทก์เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศและขอลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ โดยใช้ชื่อโจทก์หรือลงลายมือชื่อโจทก์ จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 แต่เมื่อปรากฏว่า จำเลยทำหนังสือดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ศ.และสหกรณ์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิด

*** ระวัง *** คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550 ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่าเด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงทั้งสามถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงทั้งสามตามป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)

[5] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2493 การที่ผู้เสียหายตกลงจะซื้อธนบัตรปลอมจากจำเลย แม้จะเป็นโดยจำเลยใช้อุบายหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ดีก็เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์จะกระทำผิดกฎหมาย มิได้เป็นไปด้วยความสุจริตจะถือตนว่าเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ ฉะนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีอันเนื่องจากคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายเช่นนี้ มาว่ากล่าวได้    
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2543 จำนวนเงินในเช็คพิพาทได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่ได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตามมาตรา 3 (1) การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120,121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2549 จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ได้เลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อได้เลข 96 มาแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายตกลงกันว่าจะไปซื้อหวยใต้ดิน ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อหวยใต้ดิน หลังจากมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกก็หลบหนีไป พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น