ทักทายกันก่อนเบื้องต้นครับ

วัตถุประสงค์หลักของการจัดทำเวบนี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ทางกฎหมายที่รวบรวมมาจากการสอนพิเศษ การค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ผู้อ่าน นำไปใช้ในการเตรียมสอบเนติฯ ภาค 2

ข้อมูลที่นำมาลงจะลำดับขั้นตอนทางความคิด เพื่อความเข้าใจที่เป็นระบบความคิดของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ผู้เตรียมตัวสอบสามารถเข้ามาอ่านทบทวน และมีฐานความรู้เพียงพอที่จะนำไปสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตไทยได้

หวังว่าการ Pay it Forward นี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ และหากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายและเกิดการพัฒนาต่อไป

ขอบคุณครับ
ชวลิต กุลจงกล
เนติบัณฑิตไทย สมัย 59
tutorlawgroup fanpage




วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิ อาญา ภาค 1 ตอนที่ 5: ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเป็นผู้เสียโดยนิตินัย โดยอาจารย์วัส ติงสมิตร

 ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โดยอาจารย์วัส ติงสมิตร

 ตามที่ได้อธิบายไปแล้วว่า ผู้เสียหายโดยนิตินัยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นผู้เสียหายในทางกฎหมาย เพราะหากไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยแล้ว ย่อมไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย และหากไม่เป็นผู้เสียหายแล้วย่อมมีผลทางกฎหมายหลายประการตามมา

คลิ๊กเพื่อดู ... หลักเกณฑ์สำคัญของการเป็นผู้เสียหาย 

(ก) ต้องมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีกระทำความผิดด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายหรือร่วมกระทำความผิดในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือได้กระทำความผิดโดยประมาทด้วย 

เช่น สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน (ฎีกาที่ ๗๐๐๓/๒๕๔๗) ขับรถประมาทด้วยกันทั้งคู่ (ฎีกาที่ ๔๕๒๖/๒๕๔๖) สมัครใจเข้าร่วมเล่นการพนันเพื่อโกงผู้อื่น (ฎีกาที่ ๔๓๖/๒๕๓๐ และ ๑๙๑๓/๒๕๔๖) หากการขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์เถื่อนเกิดจากการล่อซื้อโดยจำเลยไม่ได้ขายอยู่ก่อนแล้ว เข้าข่ายก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎีกาที่ ๔๓๐๑/๒๕๔๓) แต่หากจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว การสุ่มซื้อโดยไม่ประสงค์จะได้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของแท้เป็นการกระทำเพื่อ แสวงหาพยานหลักฐานมาดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ถือว่า เป็นการจูงใจหรือก่อให้ฝ่ายจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ขึ้นมา โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎีกาที่ ๖๕๒๗/๒๕๔๕)

(ข) ยินยอมให้มีการกระทำความผิด 
ผู้กู้ยืมเงินยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผู้กู้ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ (ฎีกาที่ ๑๒๘๑/๒๕๐๓) แต่หากการกระทำของจำเลยเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนด้วย โดยโจทก์มิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอันจะทำให้โจทก์ไม่เป็นผู้เสีย หายโดยนิตินัยโจทก์เป็นผู้เสียหายในข้อหาฉ้อโกง (ฎีกาที่ ๖๘๖๙/๒๕๔๑)

(ค) การกระทำที่มีวัตถุประสงค์ฝ่าฝืนกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 
การที่ผู้เสียหายตกลงจะซื้อธนบัตรปลอมจากจำเลย แม้จะเป็นโดยจำเลยใช้อุบายหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ตาม ก็เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์จะกระทำผิดกฎหมาย มิได้เป็นไปโดยสุจริตจะถือว่าตนเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้  (ฎีกาที่ ๗๗๑/๒๔๙๓)



คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๔๓/๒๕๔๙




จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ให้หมอไสยศาสตร์ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชการที่ ๕ เพื่อให้ได้สลากกินรวบจนปรากฏเป็นเลข ๒ ตัว ซึ่งอ้างว่าเป็นเลขท้าย ๒ ตัวของสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อมาจำเลยทั้งสองกับพวกขับรถยนต์กระบะมารับผู้เสียหายไปซื้อหวยใต้ดิน (สลากกินรวบ) ที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เพราะเจ้ามือหวยใต้ดินในอำเภอดังกล่าวกำลังดวงไม่ดี เมื่อเดินทางถึงหลังโรงพยาบาลชุมพร ผู้เสียหายมอบเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๒ ไปซื้อหวยใต้ดินตามที่หมอไสยศาสตร์บอก หลังจากนั้นจำเลยที่ ๒   กับพวกก็หลบหนีไป พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนัน  สลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายในคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดดังกล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น